ประวัติศาสตร์กองบิน ๔

กองบิน ๔ เด่นผยองครองอากาศ          เก่งฉกาจ เกรียงไกร ไม่ย่อย่น

เขาตาคลี เป็นที่ตั้งกำบังตน                  หมั่นฝึกฝนลับเขี้ยวให้แหลมคม

ชาติเรารักศักดิ์สีเทาเราถนอม                จะไม่ยอมให้ศัตรูมาขู่ข่ม 

ใครรุกรานจะต้านต่อจนสิ้นลม               เอาร่างถมธรณินเพื่อถิ่นไทย

        … นี่คือเพลงมาร์ชกองบิน ๔ ประพันธ์โดย  

พันจ่าอากาศเอก ช่วง  สาลี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่านิยมหลักของนักรบแดนจงอาง
 

         “เชื่อว่าพวกเราชาวทหารอากาศทั้งหลายไม่น้อยทีเดียวที่ได้ยินกับหูของตนเองหรือไม่ก็ฟังจากคนอื่น เล่าต่อ ๆ กันมา ว่ากันว่าหากใครถูกสั่งย้ายให้ไปรับราชการที่ กองบิน ๔ ตาคลี ละก็ไม่ผิดอะไรกับที่ถูกทำโทษเนรเทศไปอยู่ป่าดงพงไพรอะไรทำนองนั้น บางคนไม่เคยลำบากมาก่อนก็พาลจะลาออกไปเลยก็มี โดยเฉพาะอย่างผู้ที่เข้ารับราชการใหม่ หรือผู้ที่ยังเป็นโสดอายุน้อยมักจะเป็นทำนองดังกล่าว แล้วความเชื่อถือเอาว่ากองบิน อันมีที่ตั้งอยู่ที่ตาคลีนั้น ยังเป็นป่ารกอย่างกะอะไรดี ถ้าย้ายไปอยู่สักปีก็คงจะกลายเป็นคนป่าชาวเขาไปเลย หรือไม่ก็ถูกงูกัดตายไปก่อน ความเชื่ออย่างนี้เข้าใจว่ายังคงมีอยู่ไม่น้อย ส่วนผู้ที่เคยอยู่มาแล้วพอถูกย้ายไปที่อื่นเข้าก็เสียใจ เพราะความที่ไม่อยากจากกองบิน ๔ ไป เนื่องจากเหตุผลหลายประการ

 

ถือกำเนิดกองบิน

วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๑ เนื่องจากกิจการของกองบินทหารบกได้เจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรที่จะมีกรมสำหรับอำนวยการใจด้านการบินขึ้นจึงยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ๒๑๘/๒๗๙๔๑ แบ่งส่วนราชการเป็น ๓ ส่วน คือ

๑.  กองบินทหารบก

๒.  โรงเรียนการบินทหารบก

๓. โรงงานกรมอากาศยานทหารบก ให้ นายพันเอก พระยาเฉลิมอากาศ เป็นเจ้ากรม มีหน้าที่รับผิดชอบ และดำเนินให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของทางราชการ และให้ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารบก

พันเอก พระยาเฉลิมอากาศ

วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๒ เมื่อกองบินทหารบกเจริญขึ้น จึงได้ขยายกิจการออกเป็น

๑.  กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ (ขับไล่) มีร้อยโท ชิต  รวดเร็ว เป็นผู้บังคับบัญชา

๒.  กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๒ (ตรวจการณ์) มี ร้อยเอก เหม  ยศธร เป็นผู้บังคับบัญชา

๓.  กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๓ (ทิ้งระเบิด) มี พันตรี หลวงทะยานพิฆาต ผู้บังคับการกองบินทหารบก เป็นผู้บังคับบัญชา

ร้อยโท ชิต  รวดเร็ว

ร้อยเอก เหม  ยศธร

พันตรี หลวงทะยานพิฆาต

จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก เสด็จทอดพระเนตรกิจการกรมอากาศยาน
พร้อมด้วยจอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและคณะ ที่ดอนเมือง ต้นปี พ.ศ.๒๔๖๓ นายพันเอก พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยานและคณะนายทหารรับเสด็จ

         กล่าวได้ว่า กองบิน ๔ ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว โดยในขณะนั้นมีชื่อว่า กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ ส่วนกองบินใหญ่ทหารบกที่ ๒ คือ กองบิน ๒ ในปัจจุบัน กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๓ ได้ยุบไปแล้ว โดยทั้งหมดมีที่ตั้ง ณ ดอนเมือง กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ (กองบิน ๔) ได้อยู่ ณ โรงเก็บหมายเลข ๓ เป็นที่ทำการ

พ.ศ.๒๔๖๓  สำรวจเพื่อจะสร้างสนามบินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์                                   

เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๖๓ ทางราชการมีความประสงค์จะย้ายกองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ (กองบิน ๔) จากดอนเมืองไปตั้งประจำที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้ากรมอากาศยานจึงให้ ว่าที่ร้อยเอก ชิต  รวดเร็ว ผู้รั้งตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ (กองบิน ๔) ไปตรวจสถานที่เห็นเหมาะที่ ต.หนองอ้ายเมฆ ระหว่างคลองวาฬกับทางรถไฟ

วันที่ ๘ ส.ค.๒๔๖๔  เริ่มถากถาง ทำสนามบินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์                                

ทางราชการได้กระทำความตกลงกับทางฝ่ายปกครองท้องถิ่น มีมหาอำมาตย์ตรีพระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราชนายก ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองอำมาตย์เอกหลวงภักดีดินแดนปลัดจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ จัดการถางป่าและปรับพื้นที่ ทำสนามบิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้แรงนักโทษ ๒๐๐ คน ที่ส่งมาจากกองเรือนจำมณฑลราชบุรี และใช้ทหารในกรมทหารบกราบที่ ๑๔ เป็นผู้ควบคุม

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๔  เปลี่ยนชื่อกองบินครั้งที่ ๑

จอมพลเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (มรว.อรุณ  ฉัตกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหมดำริว่า

ราชการของกรมอากาศยานทหารบกเจริญขึ้นเป็นลำดับในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากเป็นกำลังสำหรับป้องกันศัตรูแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการพาณิชยกรรม และการคมนาคมอีกโดยอเนกประการ ด้วยความสำคัญอันนี้ พลเมืองของประเทศจึงเกิดความนิยม และช่วยกันออกทุนทรัพย์ ทำนุบำรุงกำลังทางอากาศ แสดงให้ปรากฏว่า กำลังทางอากาศนี้ไม่ใช่เป็นกำลังของรัฐบาลเตรียมไว้สำหรับราชการทหารโดยส่วนเดียว นามของกรมกองนี้ใช้ว่า กรมอากาศยานทหารบก และกองบินใหญ่ทหารบกนั้น ล่วงสมัยเสียแล้วสมควรเปลี่ยนใหม่ ให้ต้องด้วยลักษณะแห่งหน้าที่ และสมัยนิยม

         จึงมีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (สำหรับทหารบก) ที่ ๑๓๙/๑๗๘๙๑ ลง ๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ ให้แก้ไข กรมอากาศยานทหารบกและ กองบินใหญ่ทหารบกเป็น กรมอากาศยานและ กองบินใหญ่

           กองบินใหญ่ทหารบกที่ ๑ (กองบิน ๔) จึงเปลี่ยนชื่อครั้งแรก เป็น กองบินใหญ่ที่ ๑ ตามคำสั่งดังกล่าว

           หมายเหตุ คำสั่งดังกล่าวออกมาในสมัย พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เป็น เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)

             พ.ศ.๒๔๖๔ - ๒๘ เม.ย. พ.ศ.๒๔๖๕  เริ่มก่อสร้างสนามบินประจวบคีรีขันธ์

           หลังจากที่มีการสำรวจสถานที่ ที่จะตั้งกองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ แล้วนั้น ภายหลังทางราชการเห็นว่าไม่เหมาะที่จะตั้งกองบินใหญ่ที่ ๑ ประจำ แต่เป็นการเหมาะสำหรับกองโรงเรียนการบินยิงปืน และเหมาะที่พื้นที่อันเป็นแหลมต่อจากเขาล้อมหมวกด้านตะวันตก ระหว่างอ่าวมะนาวกับอ่าวประจวบ

 เจ้ากรมอากาศยานจึงให้ ร้อยเอก ชิต  รวดเร็ว ผู้รั้งตำแหน่งผู้บังคับการกองบินใหญ่ที่ ๑ กับ ร้อยโท กาพย์  ทัตตานนท์ มาสำรวจ และทำแผนผังเพื่อจะก่อตั้ง กองโรงเรียนการบินยิงปืน เมื่อทำแผนที่เสร็จแล้ว ได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงส่งเรื่องให้ กรมเกียกกายทหารบกจัดการประมูล จ้างช่างก่อสร้าง โดย นายเหยี่ยว  ยี่ห้อฟุกกี่ เป็นผู้ประมูลได้ ได้เริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๖๔ และแล้วเสร็จเมื่อ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕

ร้อยเอกหลวงอมรศักดาวาวุธ

(ชิต  รวดเร็ว)

พลอากาศโทหลวงเทวฤทธิ์พันลึก

(กาพย์  ทัตตานนท์)

           วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕  เคลื่อนย้ายกองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) จากดอนเมืองไปสนามบินประจวบคีรีขันธ์

         ในเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕ นี้ ถึงกำหนดที่ กองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) จะต้องย้ายจากดอนเมืองไปสนามบิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕ ร้อยเอกหลวงอมรศักดาวุธ (ชิต  รวดเร็ว) ผู้รั้งตำแหน่งผู้บังคับการกองบินใหญ่ที่ ๑ ได้ประชุม นายทหาร, นายสิบ, และพลทหาร ในกองบินใหญ่ที่ ๑ จะย้ายไปอยู่ ตำบลอ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสร็จแล้วได้ควบคุมข้าราชการไปลา เจ้ากรมอากาศยาน พันเอก พระยาเฉลิมอากาศ

          วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕ ข้าราชการในกองบินใหญ่ที่ ๑ และครอบครัว ได้เคลื่อนย้ายจากที่ตั้ง ตำบลดอนเมืองโดยสารรถไปไปพักที่ กรมทหารบกราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ท่าพระจันทร์

           วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕  โดยสารรถไฟจากสายใต้ ถึงที่ตั้งกองบินใหญ่ที่ ๑ ต.อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยความเรียบร้อย ข้าราชการปกครองฝ่ายท้องถิ่นมี มหาอำมาตย์ตรี พระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราช นายก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เลี้ยงต้อนรับข้าราชการ และครอบครัวเป็นอย่างดี

           วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นวันแรกที่กองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) ได้เริ่มต้นทำงานที่ว่าการกองบิน

 

            พ.ศ.๒๔๖๗  เริ่มก่อสร้างสนามบิน เขาพระบาทน้อย จ.ลพบุรี

         ทางราชการมีความประสงค์ที่จะย้ายที่ตั้ง กองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากความไม่เหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เหมาะแก่การเป็นโรงเรียนการบินยิงปืน ในต้นปี ๒๔๖๗ จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้าง สนามบินที่ เขาพระบาทน้อย จ.ลพบุรี ในระหว่างก่อสร้างนี้ กองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) ได้ส่งนายทหาร และนายสิบ ไปควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้ถูกต้องตามแผนผัง

           วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘  ได้ย้ายจากสนามบินประจวบคีรีขันธ์ มาประจำสนามบินเขาพระบาทน้อย ต.ธรณี (โคกกระเทียม) จ.ลพบุรี

 

           การย้ายมาครั้งนั้น ไม่ได้นำเครื่องบินมาด้วย มาแต่ครอบครัว และเครื่องใช้ทางภาคพื้นดินเท่านั้น เครื่องบินยังฝากไว้กับ กองโรงเรียนการบินเบื้องต้น (ดอนเมือง) กองบินใหญ่ที่ ๑ (กองบิน ๔) จึงสั่ง ร้อยเอก กล่อม  สุคนธสาร เป็นหัวหน้าชุด พร้อมนักบินอีก ๑๒ นาย ไปประจำอยู่ดอนเมือง เพื่อเตรียมนำเครื่องบินมา

           วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๑๕๐๐ เครื่องบิน NIEUPORT DE LAGE ขับโดย สิบโท หมึก  เจริญลาภ จากดอนเมืองมาลงยังสนามบิน เขาพระบาทน้อย ต.ธรณี (โคกกระเทียม) จ.ลพบุรี เป็นครั้งแรกโดยสวัสดิภาพ เครื่องบินที่ประจำการ ฝูงบิน ๒ และ ๓ คือ SPAD (บ.ข.๓), NIEUPORT DE LAGE (บ.ข.๔)  และ BREGUET (บ.ท.๑)

SPAD (บ.ข.๓)

NIEUPORT DE LAGE (บ.ข.๔)

พ.ศ.๒๔๗๖  เปลี่ยนชื่อกองบินใหญ่ที่ ๑ เป็นกองบินน้อยที่ ๑

 

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๙  มีคำสั่งเปลี่ยนชื่อกองบินน้อยที่ ๑ เป็นกองบินน้อยที่ ๔ ได้รับ เครื่องบินบรรจุเพิ่ม ๒ แบบ คือ HAWK-2 (บ.ข.๙) และ HAWK-3 (บ.ข.๑๐)

กองบินน้อยที่ ๔ สัญลักษณ์ รูปหนุมาน

HAWK-2 (บ.ข.๙)

HAWK-3 (บ.ข.๑๐)

ญี่ปุ่นบุกไทย - กำเนิดสนามบินตาคลี

ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เริ่มเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อทำการบุกรุกเข้าต่อไปยังประเทศพม่า และมลายู โดยมีกองกำลังทหารญี่ปุ่นบางส่วนตั้งฐานทัพอยู่บริเวณใกล้หมู่บ้านหนองสีนวล ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

   
 

นักบินประจำ กองบินน้อยที่ ๔ ฝูงบินที่ ๓ ได้แก่ ร.อ.ไชย  สุนทรสิงห์, ร.อ.ชิน  จิระมณีมัย และ ร.ต.สนิท  โพธิเวชกุล ได้นำเครื่องบินขึ้นต่อสู้กับเครื่องบินญี่ปุ่นที่บุกเข้ามา นักบินทั้งหมดเสียชีวิตในการรบ

ร.อ.ไชย  สุนทรสิงห์

ร.อ.ชิน  จิระมณีมัย

ร.ต.สนิท  โพธิเวชกุล

พ.ศ.๒๔๘๖ กองบินน้อยที่ ๔ บรรจุเครื่องบิน CURTISS HAWK 75N (บ.ข.๑๑) เข้าประจำการ ๑ ฝูงบิน

 

CURTISS HAWK 75N (บ.ข.๑๑)

ฝูงบินรบของญี่ปุ่นได้ขอใช้สนามบินกองบินน้อยที่ ๒ ลพบุรีเป็นฐานปฏิบัติการ  กองทัพอากาศไม่เห็นด้วย แต่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาสนามบินแห่งใหม่ให้ ซึ่ง พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ  ฤทธาคนี  เสนาธิการทหารอากาศในขณะนั้น ได้สั่งการให้เรืออากาศโท จรรย์  จุลชาต นักบินประจำหมวดบิน ๒ ฝูงบินที่ ๑ ของกองบินน้อยที่ ๒ ลพบุรี จัดทีมสำรวจร่วมกับทหารญี่ปุ่น สำรวจพื้นที่ ๒ แห่ง คือ สนามบินตาคลี และสนามบินหนองปลิง ในจังหวัดนครสวรรค์

พลอากาศเอก ฟื้น  รณนภากาศ  ฤทธาคนี

เรืออากาศโท จรรย์  จุลชาต

พ.ศ.๒๔๘๖ คณะทีมสำรวจของไทยได้ทำการสำรวจพื้นที่ทั้ง ๒ แห่ง อย่างละเอียด จึงเห็นควรเลือกใช้พื้นที่สนามบินตาคลี ซึ่งเดิมปล่อยทิ้งร้างไว้เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้ป่านานาชนิด บางแห่งทางราชการได้ใช้เป็นเรือนจำนักโทษ มีหมู่บ้านของประชาชนอยู่ในพื้นที่ไม่มากนัก จึงได้รายงาน พลอากาศเอก ฟื้น  รณนภากาศ  ฤทธาคนี  เสนาธิการทหารอากาศในขณะนั้น เพื่อขอใช้พื้นที่สนามบินตาคลีที่มีภูมิประเทศเกื้อกูลทางยุทธศาสตร์การทหาร มีแนวภูเขาขนานตามพื้นที่สนามบิน พร้อมที่จะจัดวางกำลังป้องกันการโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นได้อย่างดี นอกจากนั้นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งสนามบินตาคลีมีเส้นทางคมนาคมไม่ห่างไกลจากดอนเมือง สามารถทำการขนส่งลำเลียงทางอากาศเชื่อมโยงทุกสนามบินได้อย่างรวดเร็ว การลำเลียงขนส่งตามเส้นทางคมนาคมภาคพื้นระหว่าง ชัยนาท - ตาคลี และตาคลี - กรุงเทพฯ การเดินทางตามเส้นทางถนนสะดวกใช้เวลาไม่มากนัก พลอากาศเอก ฟื้น  รณนภากาศ  ฤทธาคนี  เสนาธิการทหารอากาศในขณะนั้นเห็นชอบด้วย ดังนั้น กองทัพอากาศจึงได้จัดตั้งงบประมาณ และดำเนินการใช้กฎหมายเวนคืนที่ดิน เพื่อเตรียมการสร้างสนามบิน ซึ่งในครั้งนั้นญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้ด้วย 

 

เขาตาคลี

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เริ่มลงมือสร้างสนามบินตาคลีในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเขาตาคลี บริเวณหมู่บ้านดงพลับ ซึ่งทหารญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบ โดยไทยได้ทำข้อตกลงเรื่องการใช้สนามบินกับกองทัพญี่ปุ่นและจ้างแรงงานไทยลงมือตัดต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก พร้อมทั้งได้ดำเนินการปรับพื้นที่เพื่อสร้าง

- สนามบิน ๒ เส้นทางวิ่งขึ้น-ลง

- หอบังคับการบิน

- ลานจอด

- เส้นทางขับเคลื่อน TAXI

- โรงเก็บซ่อมเครื่องบิน 

- คลังที่ตั้งเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์สงคราม และเสบียงสัมภาระ

- คลังน้ำมัน

- คลังเก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ

 s

ผังสนามบินตาคลี

ส่วนพื้นที่บริเวณลานจอดเครื่องบินได้สร้างบังเกอร์มูลดิน BUNKER เป็นเขื่อนกำบังรูปตัวยู (U) ป้องกันการโจมตีทั้งทางภาคพื้นและอากาศ มีรากไม้ปะปนกับมูลดินเจริญเติบโตเป็นกอไผ่ปกคลุมพื้นที่บังเกอร์ลานจอดเครื่องบิน ทำให้รอดพ้นจากเครื่องบินตรวจการณ์ทางอากาศของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้เป็นอย่างดี

การดำเนินการสร้างสนามบินตาคลีไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ญี่ปุ่นจึงขอรับงานไปดำเนินการสร้างเอง โดยในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ พบหลักฐานว่าทางญี่ปุ่นได้ประสานงานกับทาง ข้าหลวงประจำจังหวัดนครสวรรค์เรื่องการจัดหาบ้านเช่าและกรรมการทำสนามบิน

จากคำบอกเล่ากล่าวว่าตาคลีนั้นเคยใช้เป็นสถานที่กักกันเชลยศึกสงคราม ต่อมาจึงได้สร้างสนามบิน ซึ่งในช่วงนี้มีทหารญี่ปุ่นอยู่ราว ๕,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ นาย

วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗ ญี่ปุ่นได้ดำเนินการสร้างสนามบินเสร็จเรียบร้อย ซึ่งทันเวลารองรับเครื่องบินรบของญี่ปุ่นที่จะประจำการที่สนามบินกองบินน้อยที่ ๔ ตาคลีในเวลาต่อมา

 

วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม สนามบินตาคลีและที่ดินทั้งหมดจึงตกอยู่ในความครอบครองดูแลของกองทัพอากาศ 

 

สนามบินตาคลีสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

พ.ศ.๒๔๙๑ กองบินน้อยที่ ๔ บรรจุเครื่องบิน T-6 Texan (บ.ฝ.๘) เข้าประจำการ ๑ ฝูงบิน

T-6 TEXAN (บ.ฝ.๘)

           กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ กองทัพอากาศมีความประสงค์จะย้ายกองบินน้อยที่ ๔ โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ไปตั้งที่สนามบินตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการพิจารณาเห็นว่าสนามบินที่ตาคลีแห่งนี้มีความเหมาะสมในทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง คือ ตั้งอยู่กึ่งกลางของประเทศ เหมาะแก่การใช้กำลังทางอากาศ มีการป้องกันทางลึกได้ดี ประกอบกับการคมนาคมสะดวกทั้งทางบกและทางอากาศ ง่ายต่อการส่งกำลังบำรุงจากส่วนกลาง กองทัพอากาศจึงได้สั่งการให้ ร.ท.ประวงค์  เป้าทอง และ ร.ท.ชื้น  ทวีแสง มาทำการสำรวจตรวจสอบสถานที่ที่จะตั้งเป็นสถานที่ราชการ และทำการตรวจซ่อมสนามบินที่ตาคลีให้เรียบร้อยใช้ราชการได้ต่อไป พร้อมกับดำเนินการสร้างอาคารสถานที่ ที่พักอาศัย ฯลฯ เพิ่มเติม
 

สนามบินตาคลี พ.ศ.๒๔๙๖

พ.ศ.๒๔๙๔ กองบินน้อยที่ ๔ บรรจุเครื่องบิน Spitfire (บ.ข.๑๔) เข้าประจำการ ๑ ฝูงบิน

Spitfire (บ.ข.๑๔)

พ.ศ.๒๔๙๖  กองบินน้อยที่ ๔ เริ่มขนย้ายหน่วยราชการจากที่ตั้ง ณ ตำบลโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรีมาประจำการที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยทำการย้ายเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ .๒๔๙๖

กองบินน้อยที่ ๔ ย้ายมาประจำการ ณ สนามบินตาคลีในครั้งนั้น มีฝูงบินขับไล่ที่ ๔๓ จำนวน ๑ ฝูง ซึ่งในวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันสถาปนาฝูงบิน ๔๐๓ ในปัจจุบัน  

พ.ศ.๒๔๙๗ กองบินน้อยที่ ๔ บรรจุเครื่องบิน F-8F BEARCAT (บ.ข.๑๕) เข้าประจำการฝูงบิน ๔๓

   

F-8F BEARCAT (บ.ข.๑๕)

          วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯโดย บ.พระที่นั่ง ทอดพระเนตรกิจการกองบินน้อยที่ ๔

 

          วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔  กองบินน้อยที่ ๔ ได้รับโอนเครื่องบิน F-84 G THUNDER JET (บ.ข.๑๖) จากกองบินน้อยที่ ๑ ฝูงบิน ๑๑ (ดอนเมือง) จำนวน ๑๐ เครื่อง เข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๓

F-84 G THUNDER JET (บ.ข.๑๖)

          วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖  กองบินน้อยที่ ๔ บรรจุเครื่องบิน F-86 SABRE (บ.ข.๑๗) จำนวน ๘ เครื่อง เข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๓

F-86 SABRE (บ.ข.๑๗)

          วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๖  ได้รับคำสั่งกองทัพอากาศโดยประกาศให้ กองบินน้อยที่ ๔ เป็น กองบิน ๔จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากองบิน ๔ สืบต่อมา

 

       เนื่องจากบริเวณที่ตั้งกองบิน 4 แห่งนี้ มีสภาพเป็นป่าทึบ มีงูจงอางชุกชุม จึงได้รับการขนานนามโดยทั่วไปว่า "ดินแดนแห่งชาวจงอาง" หรือ  "LAND OF THE KING COBRA" และใช้รูปงูจงอางเป็นสัญลักษณ์ประจำกองบินมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ.๒๕๐๖ - ๒๕๒๘

พ.ศ.๒๕๒๘ - ๒๕๓๐

พ.ศ.๒๕๓๐ - ๒๕๓๕

พ.ศ.๒๕๓๕ - ๒๕๔๖

พ.ศ.๒๕๔๖ - ๒๕๖๔

พ.ศ.๒๕๖๔ - ปัจจุบัน

      ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๔

สมัยตั้งแต่ย้ายมาประจำ ณ ตาคลี

น.อ.วงศ์  พุ่มพูนผล

ปี ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗

น.อ.กร  กนิษฐานนท์

ปี ๒๔๙๗ - ๒๔๙๘

น.อ.จรรย์  จุลชาต

ปี ๒๔๙๘ - ๒๕๐๑

น.อ.บัญชา  เมฆวิชัย

ปี ๒๕๐๑ - ๒๕๐๓

น.อ.บัญชา  สุขานุศาสน์

ปี ๒๕๐๓ - ๒๕๐๗

สงครามเวียดนาม

พ.ศ.๒๕๐๒  ได้เกิดสงครามเวียดนามขึ้น ประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือกองทัพสหรัฐอเมริกา และเวียดนามใต้ โดยจัดกองกำลังทหารเข้าร่วมสงครามและอำนวยความสะดวกให้กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้สนามบินตาคลีเป็นฐานที่ตั้งวางกำลัง ซึ่งฐานบินตาคลีเป็นสนามบินที่มีบทบาทอย่างมากในสงครามเวียดนาม

พ.ศ.๒๕๐๗ - ๒๕๑๖  กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มเข้ามาวางกำลัง โดยบรรจุฝูงบินรบที่ ๓๕๕ ที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-100, F-105 และ F-4 เข้าประจำการ

พ.ศ.๒๕๑๗ กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้กลับมาอีกครั้ง โดยบรรจุฝูงบิน ๓๖๖ มีเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-4 และ F-111 ประจำการ

พ.ศ.๒๕๑๘  สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาจึงได้ถอนกำลังออกจากประเทศไทยทั้งหมด

   
 กองบัญชาการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ณ ฐานบินตาคลี   กองทัพอากาศสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากประเทศไทย 
   
  การวางกำลังของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ณ สนามบินตาคลี ในสงครามเวียดนาม 
  
  ฝูงบิน ๓๕๕ (355th Tactical Fighter Wing) 
   
 เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-100   เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-105  
   
 เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-4    เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-111

          วันที่ ๑๘ - ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗  ฐานบินตาคลีเป็นหน่วยรองรับการซ้อมรบร่วม แอร์บุญชู โดยได้จัดเป็นฝ่ายตั้งรับร่วมกับชาติภาคี ซึ่งใน วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ตรวจเยี่ยมหน่วยทหารที่ทำการซ้อมรบที่ฐานบินตาคลี

พ.ศ.๒๕๐๘ - ๒๕๒๖ หลังเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ กองทัพอากาศ ได้ปฏิบัติการตามแผนยุทธการ ทอ.ที่ ๑/๐๘ จัดกำลังทางอากาศสนับสนุนกำลังภาคพื้น โดย กองบิน ๔ จัดกำลังของฝูงบิน ๔๓ ปฏิบัติการ ณ ฐานบินตาคลี ด้วย F-86 SABRE (บ.ข.๑๗) ในการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการปราบปราม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๘ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เสด็จเยี่ยม กองบิน ๔ ประทานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว และพระฉายาลักษณ์ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ข้างวิหารเทพนิมิตข้างละต้นและประทาน เหรียญเสมามหาราชแก่ผู้รับเสด็จฯ ทุกคน

 

          วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๕  กองบิน ๔ ได้รับเครื่องบิน A-37B (บ.จ.๖) รุ่นแรกจำนวน ๑๗ เครื่อง จากสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการฝูงบิน ๔๓

A-37B DRAGONFLY (บ.จ.๖)

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี คล้องพวงมาลัยและเจิมเครื่องบิน A-37B ในพิธีรับมอบเข้าประจำการ

          พ.ศ.๒๕๒๐ กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน AC-47 SPOOKY (บ.จล.๒) เข้าประจำการที่ ฝูงบิน ๔๒ จำนวน ๑๔ เครื่อง โดยในปีนี้ ฝูงบิน ๔๒ และ ฝูงบิน ๔๓ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝูงบิน๔๐๒ และ ฝูงบิน ๔๐๓ โดยที่ยังคงใช้เครื่องบิน A-37B (บ.จ.๖) ปฏิบัติภารกิจต่อไปตามเดิม

 

           พ.ศ.๒๕๒๒  มีคำสั่งให้ฝูงบิน ๔๐๔ ย้ายไปประจำการที่ ฝูงบิน ๔๐๒ กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน ARAVA Model 201 (บ.ตล.๗) เข้าประจำการจำนวน ๓ เครื่อง

ARAVA Model 201 (บ.ตล.๗)

 

          วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔  กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน F-5/F (บ.ข.๑๘ ข/) ที่นั่งเดี่ยว/สองที่นั่ง เข้าประจำการที่ฝูงบิน ๔๐๓ จำนวน ๑ ฝูงบิน โดย บ.งวดสุดท้ายส่งถึงไทย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ และทำพิธีรับเข้าประจำการ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดย พล.อ.อ.พะเนียง  กานตะรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ได้บินจากดอนเมืองมาส่งที่กองบิน ๔

 

F-5E/F TIGER II (บ.ข.๑๘ ข/)

 พ.ศ.๒๕๒๕  ฝูงบิน A-37B (บ.จ.๖) ได้ย้ายจาก กองบิน ๔ ไปประจำการที่ กองบิน ๒๑ ฝูงบิน ๒๑๑ อุบลราชธานี ภายใต้คำขวัญ "ON TIME ON TARGET"

 กองทัพอากาศเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้เครื่องบินขนาดเล็กสามารถควบคุมได้ในระยะไกลโดยไม่ต้องใช้นักบินไปด้วยเนื่องจากในสมัยนั้นระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายข้าศึกถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงโดยเพิ่มความแม่นยำและอำนาจในการทำลายอันส่งผลต่อความเสี่ยงของนักบินที่เพิ่มขึ้น

กองทัพอากาศได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงจัดซื้อเครื่อง RPV หรือชื่อเต็มว่า Remotely Piloted Vehicle จากบริษัท Developmental Sciences Incorporated สหรัฐอเมริกา มาประจำการที่ ฝูงบิน ๔๐๔ กองบิน ๔ จำนวน ๕ เครื่อง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

จากนั้นเป็นต้นมา เครื่อง RPV ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้ผลดีมาโดยตลอดเป็นระยะเวลารวม ๘ ปี แต่เนื่องด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เสื่อมลงตามสภาพของการใช้งาน อีกทั้งชิ้นส่วนสำคัญในการบินหลายอย่างไม่สามารถทำการผลิตได้เองภายในประเทศสุดท้ายเครื่อง RPV จึงถูกปลดประจำการไปในที่สุด

 Patch ฝูงบิน ๔๐๔ สมัยที่เป็นเครื่อง RPV 

พ.ศ.๒๕๒๕   กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน NOMAD (บ.จล.๙) เข้าประจำการที่ฝูงบิน ๔๐๒ จำนวน ๑ ฝูงบิน

NOMAD (บ.จล.๙)

เครื่องบิน Nomad ขณะทำการซ่อมบำรุงที่ฝ่ายการช่างของ ฝูงบิน ๔๐๒

          วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗   กองบิน ๔ ได้ย้ายฝูงบิน ๔๐๒ พร้อมทั้งข้าราชการและครอบครัวไปที่ ฝูงบิน ๔๖๑ กองบิน ๔๖ พิษณุโลก พร้อมเครื่องบิน AC-47 SPOOKY (บ.จล.๒) และ NOMAD (บ.จล.๙) โดยเริ่มทยอยขนย้ายครั้งละ ๑๐ - ๑๕ ครอบครัว ด้วยรสบัสของกองบิน ๔

 

           วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕  กองบิน ๔ ทำพิธีย้ายโอน เครื่องบิน ARAVA Model 201 (บ.ตล.๗) จาก ฝูงบิน ๔๐๔ ไปวางกำลังและประจำการที่ ฝูงบิน ๖๐๕ กองบิน ๖ ดอนเมือง ตามนโยบายปรับวางกำลังทางอากาศ

           วันที่ ๒๐ - ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๓๕  กองบิน ๔ ได้นำเครื่องบิน FANTRAINER (บ.ฝ.๑๘/) จากโรงเรียนการบิน กำแพงแสน มาวางกำลังที่ กองบิน ๔ เพื่อบรรจุเข้าประจำการที่ ฝูงบิน ๔๐๒

 FANTRAINER (บ.ฝ.๑๘/ก)

          วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖   กองบิน ๔ เปิดอัตรา ฝูงบิน ๔๐๑ เพื่อเตรียมรับ เครื่องบิน L-39 ZA/ART ALBATROS (บ.ขฝ.๑) เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ร่วมกับฝูงบิน ๑๐๑ และ ฝูงบิน ๑๐๒ กองบิน ๑ นครราชสีมา

พ.ศ.๒๕๓๗   กองทัพอากาศ ได้เริ่มทยอยรับมอบและบรรจุประจำการเครื่องบิน L-39 ZA/ART (บ.ขฝ.๑) จำนวน ๓๖ เครื่อง (ภายหลังจัดซื้อเพิ่มเติมอีก ๔ เครื่อง) โดยรับมอบชุดสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ เครื่องบินทั้งหมดแบ่งเข้าบรรจุประจำการในฝูงบิน ๑๐๑, ฝูงบิน ๑๐๒ กองบิน ๑ และ ฝูงบิน ๔๐๑ กองบิน ๔ โดยปฏิบัติภารกิจ โจมตีทางอากาศ, ค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ

L-39 ZA/ART ALBATROS (บ.ขฝ.๑)

 ต่อมาได้ปรับวางกำลัง ฝูงบิน ๔๐๑ ไปประจำการ ณ กองบิน ๔๑ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และให้ ฝูงบิน ๑๐๑ เข้าประจำการ ณ ฝูงบิน ๔๐๑ ทดแทน พร้อมทั้งให้ ฝูงบิน ๔๐๑ ปฏิบัติภารกิจ การฝึกนักบินขับไล่โจมตีขั้นต้น ตั้งแต่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา

 

          วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๗   กองบิน ๔ ได้รับโอนเครื่องบิน MARCHETTI (..๑๕) จาก ฝูงบิน ๖๐๔ กองบิน ๖ จำนวน ๗ เครื่อง เข้าประจำการที่ฝูงบิน ๔๐๒ เพื่อทดแทนเครื่องบิน FANTRAINER ที่เตรียมปลดประจำการในปีถัดไป

 

MARCHETTI (บ.ฝ.๑๕)

          วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๗   กองบิน ๔ ทำพิธีโอนเครื่องบิน F-5E/F (บ.ข.๑๘ ข/) จากฝูงบิน ๔๐๓ ไปวางกำลังและประจำการที่ ฝูงบิน ๒๑๑ 

   

           วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘   กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน F-16 A/B (บ.ข.๑๙/) เข้าประจำการฝูงบิน ๔๐๓

F-16 A/B (บ.ข.๑๙/ก)

 
   
   

          วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒   กองบิน ๔ รับมอบเครื่องบิน MERLIN-IV A (.ตล.), ARAVA Model 201 (บ.ตล.๗) และ LEARJET 35A (บ.ตล.๑๒) จากฝูงบิน ๖๐๕ กองบิน ๖ เข้ามาประจำการที่ฝูงบิน ๔๐๒ พร้อมกับหยุดทำการบินกับเครื่องบิน MARCHETTI (บ.ฝ.๑๕)

 

MERLIN-IV A (บ.ตล.๖)

LEARJET 35A (บ.ตล.๑๒)

   
 

พ.ศ.๒๕๕๑                            

ความต้องการอากาศยานไร้นักบินควบคุมระยะไกลกลับมาอีกครั้ง เพื่อสนองต่อวิสัยทัศน์ของกองทัพอากาศในการที่จะพัฒนาไปสู่ระบบเครือข่ายส่วนกลางหรือ Network Centric อันเป็นที่มาของโครงการวิจัยอากาศยานไร้นักบินต้นแบบ โดยมีจุดประสงค์คือสร้างอากาศยานไร้นักบินต้นแบบของ ทอ.เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านข่าวกรองการลาดตระเวนทางอากาศ การเฝ้าตรวจค้นและติดตามเป้าหมาย

การดำเนินโครงการฯ แบ่งการดำเนินงานโดย กองทัพอากาศได้จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการวิจัยและสร้างอากาศยานไร้นักบินต้นแบบของกองทัพอากาศ ระยะดำเนินการ ๓ ปีคือ พ.ศ. ๒๕๕๑ - พ.ศ.๒๕๕๓ โดยกำหนดขอบเขตความต้องการสมรรถนะ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ขนาดต่าง ๆ เป็น ๓ ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ ๑ ได้ว่าจ้าง บริษัท พัฒนาคอนซัลติ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ตัวแทนบริษัท Sapura Secured Technology ประเทศมาเลเซีย สร้างอากาศยานไร้นักบินต้นแบบขนาดเล็ก Wing span ๓ เมตร จำนวน ๑ เครื่อง ชื่อว่า Cyber Eye Lite และอากาศยานไร้นักบินต้นแบบขนาดกลาง Wing span ๔ เมตร จำนวน ๒ เครื่อง ชื่อว่า Cyber Eye 2 V2 โดย บริษัท ได้ส่งมอบงานทั้งหมดให้เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓

 

เครื่อง Cyber Eye Lite

 

เครื่อง Cyber Eye 2 V2

ช่วงที่ ๒ ได้ว่าจ้าง บริษัท จีฟอร์ซ คอมโพสิตส์ จำกัด สร้างอากาศยานไร้นักบินต้นแบบขนาดใหญ่ Wing span ๖ เมตร จำนวน ๒ เครื่อง พร้อมติดตั้งกล้องถ่ายภาพในเวลากลางวันและกลางคืน ๑ ชุด โดยเครื่องมีชื่อว่า Tigershark II (บร.ทอ.๑) ซึ่งต่อมาทาง บริษัท จีฟอร์ซ คอมโพสิตส์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น G-Star 150 เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ บริษัท โดยหมายเลข ๑๕๐ แสดงถึงน้ำหนักของตัวเครื่อง ทำการบินทดสอบครั้งแรกวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ ที่สนามบินฝูงบิน ๒๐๖ วัฒนานคร

 
 Tigershark II (บร.ทอ.๑) บินทดสอบครั้งแรกที่สนามบินฝูงบิน ๒๐๖ วัฒนานคร

ช่วงที่ เป็นการดำเนินการสร้างอุปกรณ์สนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ได้แก่ สถานีควบคุมภาคพื้นเคลื่อนที่ บ. RC ขนาดใหญ่ Wing Span ๔ เมตร จำนวน ๒ เครื่อง เพื่อใช้เป็น บ.ฝึกสำหรับนักบินภายนอกและสร้างกล่องบรรจุสำหรับอากาศยานไร้นักบินต้นแบบขนาดกลางและขนาดใหญ่

หลังจากโครงการวิจัยอากาศยานไร้นักบินต้นแบบสำเร็จไปด้วยดีทางกองทัพอากาศจึงมีแนวคิดที่จะจัดหา UAV หรือชื่อเต็มว่า Unmanned Aerial Vehicle ที่สมบูรณ์แล้วมาใช้ โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ฝูงบิน ๔๐๔ กองบิน ๔ ได้บรรจุเครื่องบิน Aerostar B (บร.ต.๑) ต่อมาได้พัฒนาเป็น Aerostar BP ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และ บรรจุเครื่องบิน RTAF U1 (บร.ตฝ.๑) ในปี พ.ศ.๒๕๖๓

   
 Aerostar BP (บร.ต.๑)   RTAF U1 (บร.ตฝ.๑)

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน DA42 MPP (บ.ตฝ.๒๐) เข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๐๒ ต่อมากองทัพอากาศได้มีการจัดซื้อเครื่องบิน DA42 M-NG (บ.ตฝ.๒๐ ก) บรรจุเข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๐๒ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๓

 
    DA42 MPP/M-NG (บ.ตฝ.๒๐/ก)
 
 

ปี ๒๕๕๕ กองทัพอากาศได้จัดโครงการเครื่องบินขับไล่ F-16 Mid-Life Update : MLU เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มอายุการใช้งานของอากาศยาน สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทัดเทียมกับเครื่องบินสมรรถนะสูงสมัยใหม่ โดยทำการปรับปรุงตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ ถึง ปี พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเครื่องบิน F-16 AM/BM ที่ผ่านการปรับปรุงนั้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจเป็นอย่างมาก โดยในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕  น.อ.กฤษฎา  สุพิชญ์ ผู้บังคับการกองบิน ๔ เข้าร่วมพิธีส่งมอบเครื่องบิน F-16 MLU เครื่องแรก เข้าประจำการที่ ฝูงบิน ๔๐๓ กองบิน ๔

 

 

 
 F-16 AM/BM (บ.ข.๑๙/ก)

 วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑  กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน P-180 AVANTI II EVO (บ.ตล.๒๐) เข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๐๒ ต่อมาในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒ ได้ย้ายไปประจำการอยู่ที่ ฝูงบิน ๖๐๔ กองบิน ๖ ดอนเมือง

   
 
 P-180 AVANTI II EVO (บ.ตล.๒๐)

  วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑  กองบิน ๔ บรรจุเครื่องบิน T-50TH (บ.ขฝ.๒) เข้าประจำการ ฝูงบิน ๔๐๑

T-50TH (บ.ขฝ.๒)